เมื่อเวลา ๐๙.๐๐ น. วันที่ ๒๔ กุมภาพันธ์ ๒๕๖๐ ที่ห้องประชุม ๕๐๑ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ ( สสส ) นายสัมฤทธิ์ ชาภิรมย์ ผู้จัดการมูลนิธิพระมหาไถ่เพื่อการพัฒนาคนพิการ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้าร่วมงานการประชุมคณะทำงานประชารัฐเพื่อสังคม ( ครั้งที่ ๑ / ๒๕๖๐ )
ในที่ประชุมได้ยกประเด็นแผนการขับเคลื่อนการจ้างงานคนพิการในภาคธุรกิจเข้ามาหารือกัน เนื่องจากปัจจุบันคนพิการมีความสามรถและมีบทบาทในการทำงานมากขึ้นพร้อมทั้งยังมีศักยภาพในการทำงานไม่ต่างจากคนปกติ จึงอยากให้ทางด้านนายจ้างหรือเจ้าของสถานประกอบการ และหน่วยงานของรัฐ รับคนพิการเข้าทำงานตามลักษณะของงานแทนการส่งเงินเข้ากองทุนตามมาตรา 34.
ปัจจุบันนายจ้างหรือเจ้าของสถานประกอบการต่างเริ่มหันมาจ้างงานคนพิการเพิ่มมากขึ้นเนื่องจากพวกเค้าเหล่านั้นมีความสามารถในการทำงานเทียบเท่ากับคนปกติอีกทั้งยังเป็นการส่งเสริมคนพิการได้มีงานทำ
อย่างมั่นคงอีกด้วย
พระราชบัญญัติส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการ พ.ศ.2550 และที่แก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2556 มีการกำหนดใน 3 มาตรา คือ ม.33-35
ม.33 กำหนดให้นายจ้างหรือเจ้าของสถานประกอบการ และหน่วยงานของรัฐ รับคนพิการเข้าทำงานตามลักษณะของงานในสัดส่วนที่เหมาะสมในอัตรา 100 คนต่อ คนพิการ 1 คน (โดยนับจำนวนผู้ปฏิบัติงานเพื่อคำนวณจำนวนคนพิการที่ต้องรับเข้าทำงาน ณ วันที่ 1 ตุลาคม ของแต่ละปี)
ม.34 นายจ้างหรือเจ้าของสถานประกอบการที่ไม่ได้รับคนพิการเข้าทำงานตามจำนวนที่กำหนดตามมาตรา 33 ให้ส่งเงินเข้ากองทุนตามอัตราค่าจ้างขั้นต่ำคูณด้วย 365 วัน คูณด้วยจำนวนคนพิการที่ต้องรับเข้าทำงาน
และ ม.35 กรณีที่ไม่รับคนพิการเข้าทำงานตาม ม.33 และไม่ประสงค์ส่งเงินเข้ากองทุนตาม ม.34 หน่วยงานรัฐ หรือเจ้าของสถานประกอบการ อาจให้สัมปทาน จัดสถานที่จำหน่ายสินค้าหรือบริการ จัดจ้างเหมาช่วงงาน ฝึกงาน หรือจัดให้มีอุปกรณ์หรือสิ่งอำนวยความสะดวก ล่ามภาษามือ หรือการช่วยเหลือต่างๆให้กับคนพิการ/ผู้ดูแลได้