มูลนิธิพระมหาไถ่เพื่อการพัฒนาคนพิการ

The Redemptorist Foundation for People with Disabilities

อนุสัญญาว่าด้วยสิทธิคนพิการ”(Convention on the Rights of Persons with Disabilities ,CRPD)

“อนุสัญญาว่าด้วยสิทธิคนพิการ”(Convention on the Rights of Persons with Disabilities ,CRPD) ถือเป็นอนุสัญญาด้านสิทธิมนุษยชนระหว่างประเทศ ที่ให้หลักประกันในสิทธิ เสรีภาพ และศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ ต่อคนพิการ อย่างเสมอภาคทัดเทียมกับบุคคลทั่วไป และเป็นสนธิสัญญาด้านสิทธิมนุษยชน ขององค์การสหประชาชาติฉบับแรก ในศตวรรษที่ ๒๑ ความยากลำบากในการดำรงชีวิตของคนพิการรูปแบบต่าง ๆ มิได้เกิดจากความบกพร่องของสภาพทางกาย จิตใจ พฤติกรรม หรือสติปัญญาซึ่งเป็นเพียงเหตุให้เกิดข้อจำกัดในการดำเนินชีวิตระดับหนึ่งเท่านั้น หากแต่เกิดจากอุปสรรคภายนอก ซึ่งเป็นโทษกรรมที่สังคมเป็นผู้สร้างขึ้นทั้งสิ้น ด้วยแรงผลักดันของเครือข่ายคนพิการ ประเทศไทยจึงได้ร่วมเป็นแกนนำในการยกร่าง เจรจา ลงนามรับรอง รวมทั้งได้ให้สัตยาบันต่อ “อนุสัญญาว่าด้วยสิทธิคนพิการ” (Convention on the Rights of Persons with Disabilities ,CRPD) ไปเมื่อวันที่ 29 กรกฎาคม 2551 ที่ผ่านมาอนุสัญญาฯ ดังกล่าว นับเป็นแรงบันดาลใจให้เกิดการปรับปรุงกฎหมายด้านคนพิการในประเทศไทย อย่างมากมาย โดยได้บัญญัติสาระสำคัญอันเกี่ยวข้องกับสิทธิของคนพิการไว้ในกฎหมายต่างๆ เช่น รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2550 พระราชบัญญัติส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการ พ.ศ. 2550 และกฎหมายอื่นที่เกี่ยวข้องอีกกว่า 20 ฉบับ อันเป็นการสร้างหลักประกันสิทธิมนุษยชนและเสรีภาพขั้นพื้นฐานที่เป็นสากลสำหรับคนพิการไว้ในกฎหมายไทยที่สอดคล้องกับความในอนุสัญญา ฯ สาระสำคัญของ “อนุสัญญาว่าด้วยสิทธิคนพิการ” (Convention on the Rights of Persons with Disabilities ,CRPD) เน้นไปที่การขจัดอุปสรรคจากภายนอก ซึ่งเป็นสาเหตุสำคัญของความยากลำบากในการดำเนินชีวิตของผู้พิการ ตลอดจนการแก้ไขความเสียเปรียบทางสังคมของคนพิการ ซึ่งก่อให้เกิดการเลือกปฏิบัติ และขัดขวางการส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการเป็นอย่างยิ่ง ประกอบด้วยหลักการ 2 ประการ ได้แก่ 1. การพัฒนาสังคม (Social Development) เป็นการกำหนดมาตรการที่มุ่งพัฒนาบริการในด้านต่างๆ เพื่อช่วยให้คนพิการได้รับสิทธิประโยชน์ต่างๆอย่างเท่าเทียมกับบุคคลทั่วไป2. การคุ้มครองสิทธิมนุษยชนและเสรีภาพขั้นพื้นฐานของคนพิการ ซึ่งรวมถึงการขจัดการเลือกปฏิบัติและการสร้างหลักประกันความเสมอภาคในทุกมิติ (Non-Discrimination and Equality) นอกจากนี้อนุสัญญา ฯฉบับนี้ ยังมีคุณลักษณะเฉพาะ ที่ทำให้อนุสัญญาฉบับนี้มีความโดดเด่นและชี้ให้เห็นจุดที่อนุสัญญาฉบับอื่น ๆขาดไป อันได้แก่ หลักการเข้าถึงและใช้ประโยชน์จากสภาพแวดล้อมและสิ่งอำนวยความสะดวกอันเป็นสาธารณะ (Accessibility)1. การปรับสภาพแวดล้อม ทางกายภาพ อาคารสถานที่ รวมถึงการคมนาคมขนส่ง สารสนเทศและการสื่อสาร และบริการต่างๆ ฯลฯ ให้คนพิการสามารถเข้าถึงและใช้ประโยชน์ได้อย่างเท่าเทียมกับคนทั่วไป โดยการออกแบบที่เป็นสากลและเป็นธรรม ต่อคนทุกกลุ่ม เช่น การออกแบบและก่อสร้างสุขาให้คนทุกกลุ่มรวมถึงคนพิการที่ใช้เก้าอี้เข็นสามารถใช้ได้อย่างเท่าเทียมกับคนทั่วไป การออกแบบบริการข้อมูลผ่านเวปไซท์หรือสื่ออีเล็กทรอนิกส์อื่นใดให้อยู่ในรูปแบบที่ทุกคน รวมถึงคนพิการสามารถเข้าถึงและใช้ประโยชน์ได้ เป็นต้น  2. การจัดให้มีเทคโนโลยีสิ่งอำนวยความสะดวก (Assistive Technology) สำหรับคนพิการแต่ละประเภท เช่น เครื่องช่วยฟังสำหรับคนหูหนวก โปรแกรมอ่านจอภาพคอมพิวเตอร์สำหรับคนตาบอด หรือป้ายบอกทางซึ่งใช้ภาษาที่ง่ายต่อความเข้าใจ เป็นต้น3. การให้ความช่วยเหลืออย่างเหมาะสมหรือสมเหตุผล (Reasonable Accommodation) เพื่อลดความเสียเปรียบทางสังคมของคนพิการแต่ละประเภท เช่น การจัดบริการล่ามภาษามือให้แก่คนหูหนวก การให้มีผู้ช่วยคนพิการสำหรับคนพิการที่มีความต้องการจำเป็นพิเศษ อันไม่อาจตอบสนองได้โดยวิธีการทั่วไป รวมถึงความช่วยเหลือเพื่อให้สามารถเข้าถึงกระบวนการยุติธรรม เป็นต้น

Leave A Comment