มูลนิธิพระมหาไถ่เพื่อการพัฒนาคนพิการ

The Redemptorist Foundation for People with Disabilities

อาลัย สว.มณเฑียร บุญตัน

เช้าวันอาทิตย์ที่ ๒ มีนาคม ๒๕๖๗ ข่าวการถึงแก่อนิจกรรมสะเทือนใจผมมาก ผมยกเลิกสิ่งที่ตั้งใจจะทำในวันนั้นและคิดวกวนกับเรื่องนี้ เมื่อตั้งสติได้จึงค่อยปล่อยวางด้วยความเชื่อว่าอาจารย์คือผู้ที่มีบุญบารมีจากไปโดยไม่เจ็บป่วยทรมาร แต่อดห่วงใยถึงครอบครัวของอาจารย์มณเฑียรฯ ไม่ได้ ผมไม่ได้ใกล้ชิดกับอาจารย์มากนักยังสะเทือนใจขนาดนี้ แล้วครอบครัว ญาติมิตร และผู้ทำงานใกล้ชิดกับอาจารย์จะรู้สึกอย่างไร

ผมขอแสดงความเสียใจอย่างสุดซึ้งไปยังครอบครัวของอาจารย์และทุกท่านที่เกี่ยวข้องทั้งทางตรงและทางอ้อม ความสูญเสียนี้ไม่ใช่ความสูญเสียของคนพิการแต่เป็นความสูญเสียของคนไทยและมนุษยชาติผู้ใฝ่หาสิทธิเสรีภาพและความเสมอภาคเท่าเทียม

อาจารย์มณเฑียรฯ สนใจการเมืองมาตั้งแต่เด็ก ๆ อาจารย์เคยให้สัมภาษณ์กับผมว่า “…ก็เพราะว่าการขับเคลื่อนการเมืองในเรื่องของคนพิการ เราขับเคลื่อนนอกสภามาตลอด แล้วก็ได้ผลบ้างไม่ได้ผลบ้าง แม้ว่าจะได้ผลมากขึ้นหลังปี ๒๕๓๔ แล้วก็เห็นชัดเจนขึ้นในปี ๒๕๔๐ ต่อเนื่องมาเรื่อย ๆ แต่ว่ากลไกของรัฐยังไม่เปิดรับคนพิการอย่างเต็มที่นะครับ เราก็เลยมองกันว่าการเมืองภาคพลเมืองอย่างเดียวหรือภาคประชาสังคมอย่างเดียวอาจจะไม่พอ เพราะฉะนั้นการเข้ามามีส่วนร่วมในกลไกทางการเมืองกระแสหลักก็มีความจำเป็น… สนใจเรื่องการเมืองมาตั้งแต่เด็ก ๆ สนใจการมีส่วนร่วมทางการเมือง เชื่อว่าการเมืองจะเป็นคำตอบในการแก้ปัญหาหลายอย่าง คือมองการเมืองในแง่บวก ผมเป็นคนมองการเมืองในแง่บวก ผมคิดว่าเรารังเกียจการเมืองไม่ได้นะ แม้ว่ากระแสในบางช่วงบางจังหวะสังคมอาจจะทำให้รังเกียจนักการเมือง แต่เราไปรังเกียจการเมืองหรือกิจกรรมทางการเมืองไม่ได้…”

ผมทำงานกับอาจารย์มณเฑียรฯ ตั้งแต่ช่วงเป็นคณะกรรมการที่ปรึกษานายกรัฐมนตรีฯ ด้วยกัน ผมเป็นนักปฏิบัติและผมได้เรียนรู้ความเป็นนักคิดจากอาจารย์มณเฑียรฯ เป็นนักคิดที่มีแนวคิดในระดับสากลและอาจารย์ได้นำความรู้และประสบการณ์ในระดับสากล เข้ามาบรรจุไว้ในกฎหมายของคนพิการไทย รวมถึงแผนและนโยบายต่าง ๆ ของรัฐบาลที่เราได้ร่วมกันผลักดัน ความใฝ่รู้ ยิ้มสู้ และไม่ย่อท้อของอาจารย์มณเฑียรฯ ปรากฏให้เห็นเสมอในการทำงาน ทุกเรื่องที่อาจารย์นำเสนอมาจากการศึกษาค้นคว้าและเสนอต่อที่ประชุมด้วยไมตรีจิตอย่างไม่ย่อท้อ แม้บางเรื่องต้องพูดซ้ำ ๆ สักกี่ครั้งก็ตาม

ก่อนครบหนึ่งทศวรรษพระราชบัญญัติส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการ พ.ศ. ๒๕๕๐ ผมได้แลกเปลี่ยนความคิดเห็นกับอาจารย์มณเฑียรฯ ถึงสถานการณ์การขับเคลื่อนงานคนพิการในประเทศไทย อาจารย์กล่าวว่า “…ผมไม่กล้าไปตำหนิวิพากษ์ผู้นำเป็นรายบุคคลนะครับ ผมมองภาพรวมว่าตอนนี้ทุกคนก็ busy กับการเฉลิมฉลองความมั่งคั่งที่มีอยู่ ยังไม่กลับมา อันนี้น่ากลัวนะ ฉลองงานเลี้ยงนะอาจารย์อาจจะนานไปหน่อยจัดงานเลี้ยงมา ๙ ปี หลังจากที่เราประสบความสำเร็จอย่างยิ่งยวด เราก็จัดงานเลี้ยงเฉลิมฉลองกันมา ๙ ปี ผมว่ามันน่าจะ (คิด) งานเลี้ยงก็คงจะต้องเพลา ๆ ลงบ้าง…” เป็นความห่วงใยของอาจารย์มณเฑียรฯ ที่มีต่อองค์กรของคนพิการที่ควรมุ่งให้ความสำคัญกับงานการพิทักษ์สิทธิคนพิการ

อาจารย์เป็นผู้รับใช้ที่ไม่ยอมจำนนอย่างแท้จริง ดังที่อาจารย์ได้ประกาศตัวในทุกเวที ผมทราบดีว่าบทบาทในฐานะวุฒิสมาชิกของอาจารย์มณเฑียรฯ เหนื่อยหนักแค่ไหน อาจารย์ไม่ได้ทำงานแค่ในวุฒิสภาแต่อาจารย์ลงพื้นที่เยี่ยมและให้กำลังใจคนพิการและหน่วยงานในระดับจังหวัด อาจารย์นำพาสมาคมคนตาบอดฯ และร่วมขับเคลื่อนกับองค์กรของคนพิการอย่างเข้มแข็ง อาจารย์ไม่ได้ใส่สูทประชุมอยู่แต่ในสภาสูงเท่านั้นแต่อาจารย์เดินถนนกับเพื่อนคนพิการ อาจารย์ทำงานทั้งหน้าฉากและหลังฉาก (lobby) อาจารย์ผลักดันสาระสำคัญที่เกี่ยวข้องกับคนพิการในกฎหมายสำคัญ ทั้งรัฐธรรมนูญ ๒๕๔๐ ๒๕๕๐ และ ๒๕๖๐ การเสนอให้บรรจุสาระสำคัญเกี่ยวกับคนพิการไว้ในกฎหมายเกี่ยวกับการจัดซื้อจัดจ้างของหน่วยงานภาครัฐ การเข้าถึงเทคโนโลยีดิจิทัล ฯลฯ การตั้งกระทู้ถามและติดตามการทำงานของรัฐในประเด็นที่คนพิการถูกละเมิดสิทธิครั้งแล้วครั้งเล่า

ผู้นำที่มีความรู้ความสามารถพร้อมสรรพกับประสบการณ์อย่างโชกโชน ที่สำคัญที่สุดคือเป็นผู้นำที่เสียสละ มีความกล้าหาญ และอยู่ในตำแหน่งสำคัญนับจำนวนได้ในสังคมไทย การจากไปของอาจารย์มณเฑียรฯ นอกจากความสูญเสียและต่างเสียใจแล้ว จึงเป็นมรณานุสติที่จักต้องใคร่ครวญถึงวิถีชีวิตแห่งสิทธิเสรีภาพและความเสมอภาคเท่าเทียม ขอให้ดวงวิญญาณของอาจารย์มณเฑียร บุญตัน ได้จุติบนสรวงสวรรค์และสู่นิพพานเป็นนิรันดร

ดร.สุภรธรรม มงคลสวัสดิ์

ในนามมูลนิธิพระมหาไถ่เพื่อการพัฒนาคนพิการ

๖ มีนาคม ๒๕๖๗

Leave A Comment