- ประวัติ
- วัตถุประสงค์
- หน่วยงาน
มูลนิธิพระมหาไถ่เพื่อการพัฒนาคนพิการ ก่อตั้งโดย บาทหลวงเรย์มอนด์ เบรนเนน หรือที่เราเรียกกันว่า “คุณพ่อเรย์” ผู้ก่อตั้งโรงเรียนอาชีวพระมหาไถ่ พัทยา ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2527 โดยคุณพ่อเรย์ได้เล็งเห็นถึงความจำเป็นที่ต้องมีหน่วยงานที่เป็นนิติบุคคลมาเป็นเจ้าของและดำเนินงานของโรงเรียน เพื่อสร้างความมั่นคงในการดำเนินงานตามจิตตารมณ์ได้สืบไป ดังที่คุณพ่อเรย์ได้ย้ำเสมอว่า “พ่อต้องการช่วยเหลือคนพิการทุกคนทั้งโลกเลย”
คุณพ่อเรย์จึงได้ดำริให้มีการตั้งมูลนิธิพระมหาไถ่เพื่อการพัฒนาคนพิการขึ้น โดยความเห็นชอบจากคณะพระมหาไถ่แห่งประเทศไทยซึ่งขณะนั้นมี บาทหลวงฟิลิป บรรจง ไชยรา, C.Ss.R. (ปัจจุบันคือ พระสังฆราชฟิลิป บรรจง ไชยรา, C.Ss.R. ประมุขสังฆมณฑลอุบลราชธานี) เป็นประธานในฐานะเจ้าคณะพระมหาไถ่แห่งประเทศไทย เพื่อสร้างความมั่นคงให้วิทยาลัยเทคโนโลยีพระมหาไถ่ พัทยา และหน่วยงานของมูลนิธิ
คุณพ่อเรย์ยังได้ให้แนวทางถึงการดำเนินงานของมูลนิธิในการเป็นองค์กรสนับสนุนและจัดหาทุนในการดำเนินงานของศูนย์จัดหางานคนพิการพระมหาไถ่ และสนับสนุนกิจกรรมอื่น ๆ เพื่องานด้านการฟื้นฟูสมรรถภาพคนพิการตามที่เห็นสมควร เพื่อให้สามารถดำเนินงานตามจิตตารมณ์ได้อย่างยั่งยืน รวมทั้งเพื่อริเริ่มการดำเนินงานหรือสนับสนุนกิจกรรมอื่นในการส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการ
ตลอดระยะเวลากว่า 40 ปีเราเน้น “สร้างงาน สร้างอาชีพและให้คนพิการมีรายได้ที่มั่นคงและยั่งยืน” กว่า 10,000 คน
วัตถุประสงค์
- เพื่อดำเนินงานด้านการส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการ
- ส่งเสริมให้คนพิการได้รับการฟื้นฟูสมรรถภาพทางการแพทย์ การศึกษา อาชีพ และสังคม
- ให้บริการด้านการฟื้นฟูสมรรถภาพคนพิการทางการแพทย์ การศึกษา อาชีพ และสังคม
- เพื่อสร้างสถานศึกษาสำหรับคนพิการ
- ส่งเสริมหรือทำการศึกษา วิจัย ค้นคว้า และเผยแพร่เรื่องเกี่ยวกับการใช้สมุนไพรในการฟื้นฟูสมรรถภาพคนพิการ
- เป็นที่ปรึกษาหรือให้คำปรึกษาในงานที่เกี่ยวข้องกับคนพิการ
- ส่งเสริมสนับสนุนและให้ความร่วมมือกับองค์กรทั้งภาครัฐและเอกชน ที่ทำงานเกี่ยวข้องกับการฟื้นฟูสมรรถภาพคนพิการทั้งในและต่างประเทศ
- เพื่อผลิตสื่อและเผยแพร่สื่อ รายการโทรทัศน์ รายการวิทยุ ข่าว สารคดี โฆษณา และสื่อเพื่อ
การประชาสัมพันธ์ - เพื่อดำเนินงานคุ้มครองและพิทักษ์สิทธิคนพิการ
- เพื่อดำเนินงานด้านการอนุรักษ์พลังงาน เพื่อคนพิการและประชาชน
- เพื่อสร้างสถานพยาบาล
- เพื่อส่งเสริมการประกอบอาชีพ การผลิตและจำหน่ายผลิตภัณฑ์หรือการบริการ
- เป็นศูนย์การเรียนรู้ เพื่อถ่ายทอดองค์ความรู้ตามวัตถุประสงค์
- ไม่ดำเนินการเกี่ยวข้องกับการเมือง
- ดำเนินการหรือร่วมมือกับองค์กรการกุศลอื่น ๆ เพื่อสาธารณประโยชน์
พันธกิจ (Missions)
1. จัดการศึกษาขั้นพื้นฐานและฝึกอาชีพคนพิการ
2. จัดบริการฝึกงานและจัดหางานคนพิการ
3. ส่งเสริมการประกอบอาชีพคนพิการและการดำเนินธุรกิจเพื่อสังคม
4. ให้ความช่วยเหลือ พัฒนาศักยภาพ และทักษะชีวิตคนพิการ
5. ส่งเสริมการเข้าถึงสิทธิ และขจัดการเลือกปฏิบัติโดยไม่เป็นธรรมต่อคนพิการ
6. พัฒนาองค์ความรู้และนวัตกรรม
7. บริหารจัดการองค์กรให้มีความมั่นคง
เป้าหมายยุทธศาสตร์ (Strategies Goal)
1. จัดการศึกษาและส่งเสริมอาชีพ เน้นคนพิการเป็นศูนย์กลาง ใช้เทคโนโลยีที่เหมาะสม สอดคล้องกับความต้องการของตลาด สู่งานที่มีคุณค่าอย่างยั่งยืน เกิดประโยชน์ต่อสังคม ผู้ใช้บริการมีความสุขและมีรอยยิ้มเสมอ
2. เข้าถึงกลุ่มเป้าหมายเชิงรุก เน้นในพื้นที่ห่างไกล และส่งเสริมการเข้าถึงสิทธิตามอนุสัญญาว่าด้วยสิทธิคนพิการ พัฒนาองค์ความรู้ การสื่อสารและนวัตกรรมทางสังคม เพื่อป้องกันและขจัดการเลือกปฏิบัติโดยไม่เป็นธรรมต่อคนพิการ เกิดผลิตภัณฑ์บริการใหม่ที่มีความหมายต่อสังคมเสมอ
3. ส่งสริมวิถีแห่งความสุขและความสำเร็จในชีวิตตามปณิธานคุณพ่อเรย์ บริหารจัดการ องค์กรตามหลักธรรมาภิบาล ส่งเสริมการมีส่วนร่วม สร้างเครือข่ายการสนับสนุนทั้งในและ ต่างประเทศ จัดสภาพแวดล้อมและบรรยากาศให้เป็นองค์กรน่าอยู่มีความมั่นคง มุ่งสู่ความเป็นเลิศและเป็นที่ยอมรับในระดับสากล เกิดวิถีแห่งความสุขในชีวิต บุคลากรให้บริการสังคมที่เป็นเลิศตามจิตารมณ์มหาไถ่ด้วยใจเสมอ
ปรัชญา (Philosophy)
“คุณธรรมนำฟื้นฟู พัฒนาสู่ประชาสังคม”
คำขวัญ (Motto)
“สร้างสรรค์ เป็นธรรม ยั่งยืน”
วิสัยทัศน์ (Vision)
เป็นองค์กรคนพิการระดับสากลในการจัดการศึกษา จัดหางาน ส่งเสริมอาชีพ ช่วยเหลือและพัฒนาศักยภาพคนพิการ ขจัดการเลือกปฏิบัติโดยไม่เป็นธรรม พัฒนาองค์ความรู้และนวัตกรรม เป็นผู้นำการเปลี่ยนแปลงและเสริมพลังคนพิการสู่สังคมแห่งความเสมอภาค องค์กรมั่นคง มีสภาพแวดล้อมและบรรยากาศที่ส่งเสริมให้ทุกคนมีจิตสาธารณะ มีความสุขและประสบความสำเร็จในชีวิต
มูลนิธิพระมหาไถ่เพื่อการพัฒนาคนพิการ หน่วยงานจัดการศึกษาสำหรับคนพิการ เพื่อให้คนพิการมีงานทำและสามารถพึ่งพาตนเองได้ จึงทำให้ผู้พิการเหล่านั้นมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นและยังสามารถเป็นที่พึ่งพาของครอบครัวได้เป็นอย่างดี โดยเป็นโครงการเรียนฟรี ผู้เข้าเรียนไม่ต้องเสียค่าใช้จ่ายใดๆ ทั้งสิ้น
ทั้งนี้มูลนิธิฯ มีสถานศึกษาภายใต้การดูแลรวมทั้งหมด 4 แห่ง ดังนี้
1. โรงเรียนสอนคนตาบอดพระมหาไถ่พัทยา ในพระราชูปถัมภ์สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี
สถานศึกษาสำหรับคนตาบอดแห่งเดียวในภาคตะวันออก ก่อตั้งขึ้นเมื่อ พ.ศ. 2529 โดย บาทหลวงเรย์มอนด์เบรนนัน และนางออรอรา ศรีบัวพันธุ์ ข้าราชการตาบอด นักสังคมสงเคราะห์ นักการศึกษาวุฒิปริญญาโท จากสหรัฐอเมริกา ผู้อุทิศตนเป็นอาสาสมัครของมูลนิธิคณะสงฆ์พระมหาไถ่แห่งประเทศไทย
สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ รับโรงเรียนสอนคนตาบอดพระมหาไถ่พัทยา ไว้ในพระบรมราชูปถัมภ์ฯ เมื่อวันที่ 2 มิถุนายน พ.ศ. 2547 และทรงเสด็จพระราชดำเนินมาเป็นองค์ประธาน ในพิธีเปิดป้ายโรงเรียน เมื่อวันที่ 17 มิถุนายน พ.ศ. 2536
วัตถุประสงค์ของโรงเรียนคือ เพื่อมุ่งส่งเสริมทักษะชีวิตที่จำเป็นและพัฒนาคุณภาพการศึกษาแก่เด็กนักเรียนผู้บกพร่องทางการมองเห็นให้สามารถดำเนินชีวิตได้อย่างเหมาะสมและมีความสุข
การดำเนินงานของโรงเรียน จะเป็นโรงเรียนประจำ ที่มีหอพักและสิ่งอำนวยความสะดวกสำหรับคนพิการทางสายตา พร้อมอาหาร 3 มื้อ รวมทั้งอุปกรณ์การเรียนการสอนที่เป็นสื่อทันสมัย โดยไม่คิดค่าใช้จ่ายใดๆ
ปัจจุบันโรงเรียนมีนักเรียน นักศึกษาที่อยู่ในความดูแลกว่า 99 คน ตลอดระยะเวลากว่า 35 ปี โรงเรียนสอนคนตาบอดพระมหาไถ่พัทยา สามารถผลิตแรงงานคนพิการทางการมองเห็นออกไปทำงานรับใช้สังคมแล้วกว่า 593 คน
2. วิทยาลัยเทคโนโลยีพระมหาไถ่ หนองคาย ในพระราชูปถัมภ์ สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ
สยามบรมราชกุมารี
สถานศึกษาสำหรับคนพิการแห่งแรกของภาคอีสาน ตั้งอยู่จังหวัดหนองคาย ก่อตั้งขึ้นเมื่อปี พ.ศ. 2553 โดยเริ่มจากการจัดฝึกอบรมให้กับนักศึกษาผู้พิการ ต่อจากนั้นมาจึงได้รับอนุญาตให้เปิดเป็นสถานฝึกอบรมวิชาชีพสำหรับคนพิการทางการเคลื่อนไหวหรือทางร่างกาย เมื่อวันที่ 16 พฤษภาคม 2560
สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ รับวิทยาลัยเทคโนโลยีพระมหาไถ่ หนองคาย ไว้ในพระบรมราชูปถัมภ์ฯ เมื่อวันที่ 12 มีนาคม พ.ศ. 2563
วัตถุประสงค์ของวิทยาลัยฯ คือ เพื่อขยายโอกาสทางการศึกษาให้คนพิการมีวุฒิการศึกษา รวมทั้งฝึกวิชาชีพให้แก่คนพิการในภาคตะออกเฉียงเหนือและประเทศเพื่อนบ้านในแถบลุ่มแม่น้ำโขง
การดำเนินงานของวิทยาลัยฯ จะเป็นโรงเรียนประจำ ที่มีหอพักและสิ่งอำนวยความสะดวกสำหรับคนพิการ พร้อมอาหาร 3 มื้อ รวมทั้งอุปกรณ์การเรียนการสอนที่เป็นสื่อทันสมัย โดยไม่คิดค่าใช้จ่ายใดๆ
ปัจจุบันวิทยาลัยมีนักศึกษาพิการที่อยู่ในความดูแลกว่า 60 คน ตลอดระยะเวลากว่า 11 ปี วิทยาลัยเทคโนโลยีพระมหาไถ่ หนองคาย ในพระราชูปถัมภ์ฯ สามารถผลิตแรงงานคนพิการไปเป็นบุคลากรระดับมืออาชีพเพื่อทำงานรับใช้สังคมมาแล้วกว่า 628 คน
3. วิทยาลัยเทคโนโลยีพระมหาไถ่ พัทยา
สถานศึกษาสำหรับคนพิการแห่งแรกในประเทศไทย ก่อตั้งขึ้นเมื่อ พ.ศ. 2527 โดย บาทหลวงเรย์มอนด์เบรนนัน ต่อมาในปี พ.ศ. 2531 จึงได้รับอนุญาตจัดตั้งเป็นสถาบันการศึกษาระดับอาชีวศึกษาที่จัดการเรียนการสอนหลักสูตร ปวช. และ ปวส. ให้แก่คนพิการทางการเคลื่อนไหวหรือทางร่างกาย
วัตถุประสงค์ของวิทยาลัยฯ คือ เพื่อขยายโอกาสทางการศึกษาให้คนพิการมีวุฒิการศึกษา รวมทั้งให้คนพิการที่สำเร็จการศึกษาได้มีอาชีพและมีงานทำทุกคน
การดำเนินงานของวิทยาลัยฯ จะเป็นโรงเรียนประจำ ที่มีหอพักและสิ่งอำนวยความสะดวกสำหรับคนพิการ พร้อมอาหาร 3 มื้อ รวมทั้งอุปกรณ์การเรียนการสอนที่เป็นสื่อทันสมัย โดยไม่คิดค่าใช้จ่ายใดๆ
ปัจจุบันวิทยาลัยมีนักศึกษาพิการที่อยู่ในความดูแลกว่า 170 คน ตลอดระยะเวลากว่า 35 ปี วิทยาลัยเทคโนโลยีพระมหาไถ่ พัทยา สามารถผลิตแรงงานคนพิการไปเป็นบุคลากรระดับมืออาชีพเพื่อทำงานรับใช้สังคมมาแล้วกว่า 4,500 คน
4.โรงเรียนเด็กพิเศษคุณพ่อเรย์
สถานศึกษาสำหรับเด็กที่มีความบกพร่องทางด้านสติปัญญา ก่อตั้งขึ้นเมื่อปี พ.ศ.2550 โดยเริ่มจากการตั้งโครงการ “ห้องกระตุ้นพัฒนาการเด็กพิเศษ” ซึ่งมีเด็กที่เข้ารับการฟื้นฟู จำนวน 15 คน ในเวลาต่อมาจึงได้มีการขยายขอบข่ายงานสู่การพัฒนาบริการ โดยทางโรงเรียนฯ ได้ร่วมกับศูนย์การศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัย จังหวัดชลบุรี จัดให้มีการศึกษาเฉพาะบุคคล (Individualized Education Program : IEP) ในการพัฒนาทักษะฝีมือแรงงานและสร้างอาชีพ จึงได้มีการขยายพื้นที่โดยได้มีการก่อสร้างอาคารเรียนและฝึกอาชีพหลังใหม่ขึ้นมา และเมื่อ 28 มกราคม พ.ศ.2559 ได้รับพระมหากรุณาธิคุณจาก สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ทรงพระราชทานนามอาคารหลังใหม่นี้ว่า “เฉลิมพระเกียรติ”
วัตถุประสงค์ของโรงเรียนคือ เพื่อส่งเสริมศักยภาพเด็กหรือบุคคลเด็กที่มีความบกพร่องทางด้านสติปัญญา สู่การพึ่งพาตนเองให้มีอาชีพ และดำรงชีวิตอิสระในสังคมอย่างมีสุข
การดำเนินงานของโรงเรียน จัดการฝึกอบรมและมีกิจกรรมพิเศษเฉพาะกลุ่ม โดยมีอุปกรณ์ สื่อการเรียนการสอนที่ทันสมัย และสิ่งอำนวยความสะดวกสำหรับคนพิการ พร้อมอาหารมื้อเที่ยง โดยไม่คิดค่าใช้จ่ายใด ๆ
ปัจจุบันโรงเรียนเด็กพิเศษคุณพ่อเรย์มีนักเรียน นักศึกษาที่อยู่ในความดูแลกว่า 172 คน และจบการศึกษาตามระบบ จนสามารถก้าวสู่ถนนสายอาชีพและพึ่งพาตัวเองได้แล้วกว่า 38 คน